รีวิว : TP-Link Archer AX73 สเปกแรง ดีไซน์เท่ พร้อมสตรีมมิ่งวีดีโอ 8K

TP-Link Archer AX73 เราเตอร์สเปกแรงระดับ 5400 Mbps มาพร้อม Wi-Fi 6 และรองรับการสตรีมมิ่งวีดีโอ 8K ประมวลผลทรงพลังด้วยซีพียู Triple-Core ความเร็ว 1.5 GHz

โจทย์สำคัญของการซื้อเราเตอร์คือ “เสถียร” และ “เร็ว” ที่จะต้องดีกว่าเราเตอร์เดิมที่ใช้อยู่ แต่ ณ ปัจจุบัน เชื่อว่าหลายคนหาซื้อเราเตอร์ใหม่เพียงเพราะ “ต้องการ Wi-Fi 6” เท่านั้น ปัจจุบันมีโน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนหลายรุ่น เริ่มรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 ได้แล้ว แต่เราเตอร์ที่ใช้ยังเป็น 802.11 ac หรือ Wi-Fi 5 อยู่เลย…นั้นแหล่ะครับ โจทย์มาแล้ว

ในวันนี่มารู้จักกับ Archer AX73 เราเตอร์ Dual-Band รองรับ Wi-Fi 6 ใหม่ล่าสุดจาก TP-Link หลังก่อนหน้านี้เคยรีวิว AX6000 ที่เป็น Wi-Fi 6 รุ่น Top กับ AX20 รุ่นล่างไปแล้ว คราวนี้มาดูเราเตอร์ Wi-Fi 6 รุ่นระดับกลางกันบ้าง สำหรับใครที่อยากได้เราเตอร์ Wi-Fi 6 ประสิทธิภาพสูง ๆ หน่อย แต่ยังมีราคาในระดับเอื้อมถึงได้อยู่ ซึ่งตัว TP-Link Archer AX73 จะดีงามขนาดไหน ลองมาดูกันครับ

ฟีเจอร์เด่น TP-Link Archer AX73

  • Gigabit WiFi for 8K Streaming: ความเร็วรวมสูงสุดของ WiFi ที่ 5400 Mbps พร้อมรองรับการส่งสัญญาณแบบ 4×4 ช่องสัญญาณ HT160 สำหรับการเรียกดูสตรีมและดาวน์โหลดที่เร็วขึ้นในเวลาเดียวกัน
  • Connect More, Stay Fast: รองรับ MU-MIMO และ OFDMA เพื่อลดความหน่วงในสัญญาณที่มีความแออัด และ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4 เท่า
  • Extensive Coverage: เสาอากาศ 6 เสาและ มาพร้อมกับเทคโนโลยี Beamforming ที่ให้การส่งสัญญาณที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
  • Powerful Processing: การประมวลผลที่ทรงพลังด้วย CPU Triple-Core 1.5 GHz รับประกันความน่าเชื่อถือสำหรับประสิทธิภาพสูงสุดของเอาต์พุต
  • HomeShield: บริการรักษาความปลอดภัยที่มีคุณภาพสูงของ TP-Link ช่วยให้เครือข่ายในบ้านของคุณปลอดภัยด้วยฟีเจอร์ที่ล้ำสมัยสำหรับการป้องกันระบบเครือข่ายและ อุปกรณ์ IoT (Internet of Things)
  • More Vents, Less Heat: ปรับปรุงพื้นที่ช่องระบายอากาศเพื่อช่วยลดพลังงานความร้อนของตัวเครื่อง
  • USB Sharing: USB 3.0 สำหรับแชร์ไฟล์และสร้างคลาวด์ส่วนตัว
  • Easy Setup: ตั้งค่าเราเตอร์ภายในเวลาไม่กี่นาทีด้วยแอป Tether

แกะกล่อง

ตัวกล่องค่อนข้างใหญ่ในระดับหนึ่งเลย ส่วนภายในก็มีตัว Archer AX73 , ชุดไฟเลี้ยง Power Adapter , สาย RJ45 Ethernet Cable และ ชุดคู่มือ Quick Installation Guide

งานออกแบบ

นับวันการออกแบบเราเตอร์ยิ่งเหมือนงานศิลปะเข้าไปทุกที Archer AX73 ก็เป็นเราเตอร์ 6 เสาสัญญาณ ขนาดย่อมรุ่นหนึ่ง โดยรอบตัวเครื่องมีการออกแบบลวดลายที่สวยงามสะดุดตาไม่น้อยเลย มาพร้อมสีดำด้านทั้งตัว ยกเว้นบริเวณที่มีโลโก้ TP-Link เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมตัดขวางดำเงา จุดนี้จะค่อนข้างสะท้อนแสงพอควร

เทียบขนาด Archer AX73 กับฝ่ามือ (ผู้ชาย)

จุดเด่นพิเศษอย่างหนึ่งของ Archer AX73 คือ มีเสาสัญญาณ 6 เสา ที่มาพร้อม Beamforming ช่วยยิงสัญญาณตรงไปยังอุปกรณ์ได้อย่างเสถียร อีกทั้งยังรองรับการส่งสัญญาณแบบ 4×4 ช่องสัญญาณ HT160 ช่วยทำให้เรียกดูสตรีมมิ่งและการดาวน์โหลดได้เร็วขึ้นในเวลาเดียวกัน ด้านหลังก็มีพอร์ตเชื่อมต่อ LAN แบบ Gigabit มาให้ 4 ช่องเลย และช่อง WAN แบบ Gigabit ให้ 1 ช่อง ข้าง ๆ กันก็มีปุ่มเปิดปิดไฟ LED กับ WiFi ปุ่ม WPS และปุ่ม Reset

และอีกอย่างคือ มาพร้อมพอร์ต USB 3.0 ให้ด้วย 1 ช่อง เหมาะสำหรับใครที่สนใจทำ Cloud ผ่าน Flash Drive หรือ HHD/SSD External ซึ่งถือว่าดีมากที่เห็นเป็นพอร์ต USB 3.0 มาเลย จะได้ความเร็วที่ดีในการเชื่อมต่อ

ถัดมา 4T4R หรือที่เราได้ยินบ่อย ๆ ว่า 4×4 MIMO ตัว Archer AX73 ก็มี MIMO ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับส่งข้อมูลที่เสถียรมากขึ้นด้วย คือจากเดิมที่ทำได้เพียง 2 ช่องสัญญาณ ก็เพิ่มเป็น 4 ช่องสัญญาณ นั่นหมายความว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ใช้ไฟล์หนักๆ เช่น การ Multi VDO conference, Facebook Live หรือการดู VDO Streaming ที่ความละเอียดระดับ 4K หรือ 8K ก็จะทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีมากขึ้นนั้นเอง

 

และอย่างสุดท้าย เพื่อให้ดู VDO Streaming ระดับ 4K หรือ 8K ได้ลื่นไหล ภายในตัว Archer AX73 ก็มีซีพียูระดับ Triple-Core ความเร็ว 1.5 GHz ช่วยบริการการจัดการภายในของตัวเราเตอร์ เวลามีการเรียกใช้งานหนัก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้งาน

ในส่วนใช้งานรอบนี้ สังเกตได้ว่า TP-Link ได้เพิ่มฟีเจอร์เข้ามาใหม่อย่าง “HomeShield” เป็นบริการป้องกันการบุกรุกในโลกออนไลน์กับเป็นตัวกรองเนื้อหาที่เป็นอันตราย และช่วยป้องกัน DDos ให้กับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่ ซึ่งการติดตั้งใช้งานครั้งแรก กับบริเวณ HomeShield นี้จะเป็นอย่างไร เดี๋ยวมาดูกันเลยครับ

ตัว Archer AX7 สามารถใช้งานได้ทันที เพียงแค่เสียบปลั๊กและต่อสาย LAN จาก Modem ส่วนใต้เครื่องก็มีรหัสเข้า Wi-Fi อยู่ แต่เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ ก็แนะนำให้โหลดแอปฯ Tether มาติดตั้ง จากนั้นก็ทำการตั้งค่าใช้งานตามที่ต้องการเช่น ชื่อกับรหัส Wi-Fi โดยในที่นี้ผมได้ตั้งค่าแยกประเภทคลื่น 2.4GHz กับ 5GHz ให้เห็นแบบชัด ๆ

แต่ถ้าใครไม่อยากมาสลับใช้ 2.4GHz กับ 5GHz ให้วุ่นวาย ในตัว Archer AX73 ก็มีฟีเจอร์ “Smart Connect” ช่วยรวมชื่อ Wi-Fi ที่แต่เดิมแยกเป็น 2 ชื่อใน Dual-Band ให้รวมกันเป็นชื่อเดียว จากนั้นมันจะทำการเลือกเชื่อมต่อคลื่น 2.4GHz กับ 5GHz ที่มีความเร็วสูงสุดให้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมาสลับเองแล้ว

ตัวอย่างการรวมชื่อใน Smart Connect

สามารถจัดการอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เชื่อมต่อได้ เช่นบล็อคหรือเปิด QoS บนอุปกรณ์ที่คิดว่าสำคัญสุด

อีกฟีเจอร์ที่ทำงานคล้าย ๆ กับ Smart Connect คือ OneMesh  สำหรับใครที่มี Mesh หรือ Extender ช่วยขยายสัญญาณจาก TP-Link ก็สามารถนำมาเชื่อมต่อจากตัว Archer AX73 ได้เลย จากนั้นก็เปิดใช้ OneMesh ผ่านแอปฯ Tether จะทำให้สามารถใช้งาน Wi-Fi ได้ทั่วบ้าน เวลาเดินไปยังจุดที่วาง Mesh หรือ Extender ไว้ ก็ไม่ต้องสลับการเชื่อมต่อ ตัวฟีเจอร์จะจัดการให้โดยอัตโนมัติเลย

มาถึงส่วน HomeShield กันแล้ว สำหรับฟีเจอร์นี้ก็เรียกได้ว่าเป็นบริการใหม่ล่าสุดจาก TP-Link โดยหากใช้งาน ก็จำเป็นต้อง Log-In ชื่อผู้ใช้ในแอปฯ Tether กันก่อน หลัง Log-In แล้ว ตัว HomeShield ก็จะมีฟีเจอร์ช่วยสแกนระบบการเชื่อมต่อจากตัวเราเตอร์หรือ Archer AX73 ให้ทันที

หน้าตาตอนสแกน

นอกจากนี้ก็ยังมีส่วนจัดการ QoS ที่ทำได้ละเอียดขึ้นในนี้ด้วย

และสุดท้าย HomeShield ก็มีเลือกใช้แบบฟรีและแบบ Pro โดยแบบ Pro จะมีฟีเจอร์ควบคุมที่มากมายยิ่งขึ้น สามารถทำงานแบบอัตโนมัติได้ ใครอยากรู้ว่ามันดีจริงไหม ก็สามารถทดลองใช้งานก่อน 1 เดือนได้ครับ

ประสิทธิภาพ

การเทสประสิทธิภาพครั้งนี้ จะเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง WiFi 5 กับ WiFi 6 ให้เห็นแบบชัด ๆ ไปเลย และแน่นอนว่าพระเอกครั้งนี้คือ Archer AX73 ซึ่งเป็นเราเตอร์ Dual-Band ที่รองรับ Wi-Fi ด้วยนี้เอง อีกทั้งตัวคลื่น 5GHz รองรับความเร็วได้ถึง 4804 Mbps บวกกับเน็ตที่บ้านตอนนี้ใช้ความเร็ว 500/500 Mbps แล้ว (ในที่สุด !!)

ประเดิมด้วย Wi-Fi 5 กันก่อน ลองนำโน้ตบุ๊กที่ยังใช้ Wi-Fi 5 (802.11ac) มาทดสอบความเร็วกันก่อน เริ่มจากลองใช้คลื่น 2.4GHz ได้ความเร็วไป 98.72 Mbps ส่วน คลื่น 5GHz ได้ความเร็วไปถึง 404 Mbps

อาจดูไม่เต็ม 500/500 Mbps ก็จริง แต่หากเทียบกับ Modem ที่ใช้อยู่ บอกเลยว่า… Archer AX73 กินขาด

ต่อไปก็ถึงคิวของ Wi-Fi 6 to Wi-Fi 6 ลองใช้โน้ตบุ๊กที่รองรับ Wi-Fi 6 (802.11ax) มาทดสอบ ประเดิมด้วยคลื่น 2.4 GHz เช่นเคย แล้วตามด้วย 5GHz เห็นความแตกต่างแบบสุด ๆ เลยครับ ในคลื่น 2.4 GHz ได้ความเร็ว 134 Mbps ส่วน 5GHz ได้เต็มหมดเต็มหน่วยไป 555 Mbps กันเลย ทะลุ 500/500 Mbps ไปเรียบร้อย ส่วน Upload ได้ 380 Mbps ก็ยังโอเคอยู่

ต่อไปลองใช้งานอุปกรณ์หลาย ๆ ตัวพร้อมกันดู ลองเปิดวิดีโอ 4K เครื่องหนึ่ง โหลดเกม 2 เครื่อง และ 1 โน้ตบุ๊ก Wi-Fi 6 ที่จะเป็นตัววัดผลนี้เอง

อุปกรณ์ 4 ตัวใช้งานพร้อมกัน

ผลการเทส ความเร็วก็ตกไปเหลือ 338 Mbps จาก 500/500 Mbps ถือว่าตกไม่มาก อีกอย่างคือค่า Latency หรือความเสถียรเฉลี่ยอยู่ที่ 8.551 ms น้อยสุดคือ 5.595 ms เท่านั้น แม้จะมีการแย่งกันใช้พอควร

ปิดท้ายด้วยการทดสอบระยะสัญญาณ ลองดูว่าตัว Archer AX73 หากอยู่ห่างกันมาก ความเร็วจะเหลือเท่าไร (เทสด้วย โน้ตบุ๊ก Wi-Fi 6 เช่นเคย)

เทสผ่านคลื่น 2.4GHz ในระยะห่าง 1 ห้อง ความเร็วได้ 132 Mbps แต่ Latency กำลังเสถียร

เทสผ่านคลื่น 5GHz ในระยะห่าง 1 ห้อง ความเร็วได้ 374 Mbps แต่ Latency สูงพอควร

ต่อไปลองวัดใจ เทสผ่านคลื่น 5GHz มีระยะกระจายสั้น แต่ยืนอยู่ในระยะที่ห่างแบบสุด ๆ โดยออกมายืนข้างนอกบ้านเลย (ยืนเทสกลางดงยุง – -) ส่วนผลก็ได้ตามภาพ ยังใช้งานได้ครับ แต่ก็จะปริ่ม ๆ หน่อย ถ้าคลื่น 2.4GHz อาจได้เยอะกว่านี้

สรุป

มันถึงเวลาของ Wi-Fi 6 แล้ว !! หลังได้รีวิวตัวเราเตอร์ Archer AX73 ก็ทำให้รู้เลยว่า Wi-Fi 6 ดีงามขนาดไหน ซึ่งจะดีมากหากเรามีทั้งตัวรับและตัวส่งเป็น Wi-Fi 6 ทั้งคู่ สำหรับตัว Archer AX73 ก็นับเป็นเราเตอร์ประสิทธิภาพสูงรุ่นหนึ่งเลย โดยมีสเปกระดับ 5400 Mbps กับ CPU Triple-Core 1.5 GHz รองรับ MU-MIMO กับ OFDMA และมี USB 3.0 ให้ด้วย สุดท้ายคือมีเทคโนโลยีการส่งสัญญาณสำหรับสตรีมโดยเฉพาะ ครบเครื่องมาก ๆ ส่วนข้อสังเกตก็มีบ้าง อย่างบริเวณส่วนที่เป็นผิวมันเงาก็เป็นรอยได้ง่าย ๆ อยู่  กับคลื่น 2.4 GHz รองรับความเร็วสูงสุดเพียง 574 Mbps เท่านั้น

สุดท้ายนี้ TP-Link Archer AX73 เปิดราคาที่ 4,990 บาท หากใครสนใจ รอดูโปรโมชั่น 12.12 ในเดือนธันวาคมเร็ว ๆ นี้ได้เลย ทาง TP-Link จะมีราคาพิเศษให้ด้วยครั ติดตามได้ที่

Shops
แชร์ :
review
  • วัสดุ / การออกแบบ
  • สเปค / ฟีเจอร์
  • ราคา / ความคุ้มค่า
Comments Rating 0 (0 reviews)

Leave a Reply

User Review
  • วัสดุ / การออกแบบ
    Sending
  • สเปค / ฟีเจอร์
    Sending
  • ราคา / ความคุ้มค่า
    Sending

Follow us
Most popular
Category
Tag

Relate Article