รีวิว : ASUS ROG Phone 3 ที่สุดของสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง เร้าใจทั้งฟีเจอร์และ Accessory

เปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเรียบร้อย พร้อมเผยราคาที่เอื้อมถึงง่ายเกินคาด ASUS Thailand ประกาศเปิดตัว ROG Phone 3 สุดยอดเกมมิ่งโฟนภาคต่อ จัดเต็มทั้งดีไซน์และฟีเจอร์เกมมิ่งยิ่งขึ้น

‘สุดยอดสมาร์ทโฟนเล่นเกม’ คำนี้เคยนิยามไว้ตอนรีวิว ROG Phone 2 มาถึงรุ่นที่ 3 คำว่า “สุดยอด” ก็ยังใช้ได้อีกครั้ง วันนี้มาพบกับที่สุดของสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง หรือ สุดยอดดด เกมมิ่งโฟนภาคต่ออย่าง ASUS ROG Phone 3 กัน

ROG Phone 3 ถือเป็นหนึ่งในซีรีส์สมาร์ทโฟนเกมมิ่งจาก ASUS ROG ซึ่งรอบนี้มีเปิดตัวรุ่นย่อยอย่าง ROG Phone 3 Strix Edition ที่มีราคาเข้าถึงง่ายขึ้นด้วย ส่วนพี่ใหญ่อย่าง ROG Phone 3 ที่จะมารีวิวในครั้งนี้ หลัก ๆ ที่อัพเกรดขึ้นใหม่เลยคือ จอสีตรงพร้อมรองรับ 144 Hz ชิปประมวลผล Snapdragon 865 Plus ระบบระบายความร้อน 3D vapor chamber แบบใหม่ ดีไซน์ฝาหลังใหม่ กล้องหลัง 3 ตัว และรองรับ 5G

รีวิวนี้บอกเลยว่ายาว จัดหนักทั้งตัวเครื่องและ Accessory หรืออุปกรณ์เสริม ใครที่อยากรู้เกี่ยวกับ ROG Phone 3 แบบ (อามรณ์) เน้น ๆ ลองมาดูกันเลยครับ

รายละเอียดสเปก ROG Phone 3 

หน้าจอ : AMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2340 x 1080) สัดส่วน 19.5:9 อัตรา Refresh Rate 144 Hz / 1 ms รองรับ HDR10+ และมีค่า Delta-E < 1 ครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 6
หน่วยประมวลผล : Qualcomm Snapdragon 865 Plus 5G Mobile Platform ขนาด 7 nm ความเร็ว 3.1 GHz
ชิปกราฟฟิก : Qualcomm Adreno 650
แรม : 12GB LPDDR5
รอม : 512GB แบบ UFS 3.1
กล้องหลัง : [48 MP + 12 MP + 5MP] แบ่งเป็นเลนส์หลัก 48 ล้านพิกเซล ใช้เซ็นเซอร์ IMX686 จาก Sony เลนส์ Ultrawide 13 ล้านพิกเซล และเลนส์ Macro 5 ล้านพิกเซล
กล้องหน้า : 24 ล้านพิกเซล
การเชื่อมต่อ : USB-C (ไม่มีรูเสียบหูฟัง 3.5 mm แต่มีหัวแปลงแทน)
เน็ตเวิร์ค : WiFi 6 + Bluetooth5.1 (BR/EDR+LE) รองรับ QualcommaptX Adaptive
แบตฯ : Li-Ion 6,000mAh รองรับ Quick Charge 4.0 และ PD Charging
ระบบเสียง : Hi-Res Audio 192 kHz / 24-bit standard (USB-C® output) that is 4x better than CD quality
ขนาดตัวเครื่อง : 171 x 78 x 9.85 mm
น้ำหนัก : 240g
ระบบปฏิบัติการ : Android 10 ครอบทับด้วย ROG UI

แกะกล่อง

จากใจ…รีวิวนี้ผมถือเป็นการ Unbox ที่สนุกที่สุดในรอบปีนี้เลยครับ ตัวกล่องของ ROG Phone 3 แกะสนุกมาก และกล่องก็สวยมากกก คือแค่กล่อง ก็สัมผัสได้ถึงแรงกดดันเลยว่า “ข้าคือเกมมิ่ง” และหากมีไฟส่องกระทบ ตัวกล่องจะเหมือนมีขอบไฟ RGB ราง ๆ ให้เห็นตามภาพเลย

ภายในกล่อง นอกจากตัวเครื่อง ROG Phone 3 แล้ว ก็มีสารพัดอุปกรณ์เสริม อาทิ AeroActive Cooler 3 พัดลมพกพา , Aero Case เคสพลาสติกแข็ง (ลายสวยมาก) , ชุดชาร์จไฟ 30W , สาย USB-C to USB-C , สายแปลง USB-C to 3.5mm , ที่แกะซิมการ์ด , จุกยางปิดช่อง USB และชุดคู่มือพร้อมสติกเกอร์ลาย ROG

การออกแบบ

 

ดีไซน์ตัว ROG Phone 3 ดูจากไกล ๆ อาจคล้ายกับ ROG Phone รุ่นก่อน ๆ คือเป็นทรงเดิมจริง แต่ลวดลายไม่เหมือนเดิม หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมยังเป็นทรงนี้ ตามสเปกบอกเลยว่า ROG Phone 3 กับ ROG Phone 2 ขนาดตัวเครื่องแทบไม่ต่างกันเลย น้ำหนักยังเท่ากันเป๊ะ (หนักมือเหมือนเดิม…)

จุดนี้คิดว่าทาง ASUS คงพยายามรักษา Ecosystem ของตัวเครื่องเอาไว้ อย่างที่รู้กันว่า ROG Phone มีอุปกรณ์เสริมมากมาย ถ้าหากเปิดตัวรุ่นใหม่ แต่ทรงเปลี่ยนไป คนที่ซื้ออุปกรณ์เสริมในรุ่นก่อนหน้า คงน้ำตาตกในแน่นอนครับ ฉะนั้นจึงใช้ทรงนี้ เพื่อให้อุปกรณ์จากรุ่นก่อนหน้า ยังใช้งานได้นั้นเอง

ว่ากันที่ลวดลายใหม่…เชื่อว่ารุ่นถัดไปมีไฟ RGB รอบตัวเครื่องแน่ ๆ (ฮ่า ฮ่า) คือในรุ่นนี้ มีการเพิ่มเส้นลวดลายที่ดูคล้ายกับแผงวงจรล้ำ ๆ อีกทั้งแต่ละเส้นยังสะท้องแสงเป็นสีรุ้งได้ด้วย โดยรวมคือสวยงาม หรูหรา และยังแฝงความดุดัน ตามสไตล์อุปกรณ์จาก ROG

จุดที่เรียกได้ว่าเป็น Signature จริง ๆ ของ ROG Phone 3 เลยคือ 3D vapor chamber ตัว ช่องระบายความร้อนแบบใหม่นี้เอง ซึ่งภายในจะเป็นช่องว่างระบายความร้อน แล้วปิดด้วยกระจกอีกที โชว์เปลือยเครื่องนิด ๆ เซ็กซี่พองาม (: b) และยังสะท้องแสงเป็นสีรุ้งอีก ซึ่งเด่นมาก ๆ

เด่นไหมล่ะ (เคส Lighting Armor)

หน้าจอ AMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2340 x 1080) สเปกโดยรวมยังคล้ายกับรุ่นก่อนหน้า คือมีสัดส่วน 19.5:9  ค่า Delta-E < 1 และครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 6 เช่นเดียวกัน แต่เพิ่มเติมคือ Refresh Rate จากเดิม 120Hz เป็น 144 Hz กันเลย ซึ่งจากที่ลองใช้พูดเลยว่า “ลื่นหัวแตก” อีกทั้งตัวจอยังแสดงผลได้คมชัด

ลองดูความบางกับดูปุ่มมาโครแบบกดสัมผัสหรือฟีเจอร์ Air Trigger 3 ที่พัฒนาใหม่ให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น และหากดูปุ่ม Air Trigger ดี ๆ เหมือนจะเห็นโลโก้ ROG ส่วนตำแหน่งพอร์ตเชื่อมต่อพิเศษ (Side-mounted port) ยังคงอยู่ตำแหน่งเดิม

ลองเทียบรุ่นระหว่าง ROG Phone 3 (ซ้าย) และ ROG Phone 2 (ขวา) จุดที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือตัวระบายความร้อน จากเดิมดูไม่ค่อยออกว่ามันระบายความร้อนยังไง พอเป็นรุ่นใหม่อย่าง ROG Phone 3 ก็พอดูออกมากขึ้น….นะ แต่ภายใน ASUS ระบุว่า ใช้ตัว Heat sink ที่ใหญ่ขึ้นถึง 6 เท่า มีการออกแบบใหม่ ช่วยระบายความร้อนได้ดีกว่าเดิมมาก

ฟีเจอร์

ประเดิมที่ฟีเจอร์แรกอย่าง Armoury Crate เป็นแอปฯ เฉพาะตัวของ ROG Phone ทุกรุ่น ที่ช่วยให้สามารถปรับแต่งโปรโฟล์การตั้งค่าในแต่ละเกม เช่น การแสดงผล การควบคุม หรือการเซ็ตปุ่มมาโครอย่าง Air Trigger 3 เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้ฟีเจอร์ Armoury Crate

X-Mode ปุ่มปลดล็อคประสิทธิภาพเครื่อง หรือการ Overclock ซีพียู Snapdragon 865 Plus ซึ่งนอกจากเร่งความเร็วซีพียูแล้ว ยังเป็นการเปิดโหมดไฟ LED ที่ด้านหลังเครื่อง รวมไปถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย เช่น AeroActive Cooler 3 , TwinView Dock 3 และ Lighting Armor ที่จะมีไฟ RGB ติดขึ้นมา หลังกด X-Mode เท่านั้น

Air Trigger 3 ปุ่มมาโครสุดโกง เปลี่ยนให้คุณกลายเป็นผู้เล่นเกม FPS ระดับโปรได้ทันที ในตัวเครื่อง ROG Phone 3 มีการพัฒนาใหม่ ให้ไวต่อการสัมผัสยิ่งขึ้นด้วยเซ็นเซอร์อัลตราโซนิก และรองรับการสัมผัสอื่น ๆ ด้วย เช่น “การบีบ” แบบยาวหรือสั้นในโหมดแนวตั้ง ตั้งเป็นมาโครได้เหมือนกัน

Accessory อุปกรณ์เสริม

สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งของ ROG Phone 3 หรือในทุก ๆ รุ่นของซีรีส์นี้เลยคือ Accessory อุปกรณ์เสริม ที่ช่วยให้ใช้งานตัว ROG Phone ได้เต็มอารมณ์ขึ้นมาก ใช้งานคุ้มค่าตัวยิ่งขึ้น ซึ่งในรีวิวนี้ ทาง ASUS ก็ได้ส่งมาให้ลองใช้อยู่หลายตัวเลย โดยจะมีอะไรบ้างลองมาดูกัน

TwinView Dock 3

ประเดิมอุปกรณ์ที่ช่วยดึงประสิทธิภาพจากตัว ROG Phone ได้มากที่สุด แพงที่สุด และเด็ดที่สุดอย่าง TwinView Dock 3 หรือหน้าจอสำรองพร้อมเคส ที่ช่วยแปลงให้ ROG Phone 3 กลายเป็นเครื่องเล่นเกมพกพาระดับ Hi-End มาพร้อม 2 หน้าจอ หรือ Dual Screen ในตัวเดียว


ตัวจอมาพร้อมขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2340 x 1080) รองรับ 144 Hz แบบเดียวกับจอหลักของตัว ROG Phone 3 อีกทั้งยังมีทั้งพัดลมระบายความร้อนในตัว และแบตฯ สำรองให้อีก 5000 mAh ที่ช่วยยืดอายุการเล่นเกมได้นานขึ้นมาก ๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับอุปกรณ์เสริมตัวนี้ทันทีที่ต่อกับ ROG Phone 3 มันจะกลายเป็นเครื่องเล่นเกมพกพาชนิดที่แทบจะเรียกว่า ‘มือถือ’ ไม่ได้แล้ว มีคนโทรมาก็อาจต้องคุยผ่านหูฟัง อย่างที่สองคือ หนักมากกก (และแพงมากก) ตัว ROG Phone 3 ก็มีน้ำหนักอยู่แล้ว ยิ่งมาต่อกับตัว TwinView Dock 3 ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก

อย่างที่สาม ถูกปรามาสว่าเป็นอุปกรณ์เสริมที่เกินจำเป็น แพงแต่ไม่คุ้ม สืบเนื่องจากตอนนั้นเกมที่รองรับการเล่นพร้อมกัน 2 หน้าจอได้นั้น มีน้อยยยยยยยยยมาก (ปัจจุบันก็ยังน้อยอยู่….) ซึ่งตอนนี้เท่าที่เห็นคือมีเฉพาะเกม Asphalt 9: Legends เท่านั้น แต่ใน Armoury Crate ก็มีระบุชื่อเกมอยู่หลายเกม ที่จะรองรับการเล่นสองจอเหมือน Asphalt 9 ในอนาคต

ทว่าในสารพัดข้อเสียของมัน ก็ยังแฝงสารพัดประโยชน์การใช้งานที่มีมากเกินคาด ซึ่งกล้าพูดเลยว่า ไม่มีสมาร์ทโฟนเครื่องไหนทำไหน นอกจาก TwinView Dock 3 + ROG Phone 3 หนึ่งเลยคือ สามารถเล่นเกมสองเกมในสองหน้าจอได้ คือเปิดเกมสองเกมในเครื่องเดียว แยกกันเล่นเลย สืบเนื่องจากเกมมือถือสมัยนี้ มักมีโหมด Auto ช่วยประหยัดเวลาเล่น ดังนั้นใครอยากปล่อย Auto หนึ่งเกม และคุมเองอีกเกม ก็ทำได้ใน TwinView Dock 3 เลย แต่มีข้อแม้ว่า ควรเปิดเกมที่กินสเปกไม่มาก ถือเป็นข้อควรระวังอย่างยิ่ง เพราะจากที่ลองใช้ ลองเปิดเกม 3D เต็มสูบหนึ่ง เกม 2D อีกหนึ่งพร้อมกัน ผลคือเล่นได้แปบเดียว เครื่องมีอุณหภูมิสูงจนน่ากลัวเลย ฉะนั้นควรดูเกมที่จะเล่นก่อนเปิดนะครับ


อย่างที่สอง เล่นเกมไป ท่องเน็ตไป จอล่างก็เล่นเกมไป จอบนก็อาจเปิดคลิปแนะนำการเล่น หรือเปิดเว็บ เปิด Facebook ตามต้องการ ยกตัวอย่าง เล่น Amnog US กับชาวต่างชาติ เราไม่เก่งภาษา ก็เปิดอีกจอเป็นเว็บบอกตัวอย่างประโยคภาษาอังกฤษ ช่วยให้เห็นแล้วพิมพ์คุยช่วง Discuss ได้ทันทีนั้นเอง

AeroActive Cooler 3

หากต้องการประสิทธิภาพระบายความร้อนให้สูงขึ้นอีก ก็มีอุปกรณ์แถมติดกล่องอย่าง AeroActive Cooler 3 ที่ออกแบบใบพัดลมใหม่ ช่วยสร้างลมหมุนเวียนใน ROG Aerodynamic System ในปริมาณที่มากขึ้น ช่วยระบายความร้อนเพื่อคงประสิทธิภาพการเล่นเกมส์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น อีกทั้งรอบนี้ยังมาพร้อมขาตั้งในตัวด้วย

Lighting Armor Case

สำหรับใครที่เสพติด RGB เข้าเส้น (รวมถึงผม) อาจได้โดนเคสตัวนี้แน่นอน แต่ทั้งนี้ตัวเคสจะมีไฟ LED ขึ้นมาเฉพาะตอนกดเปิด X-Mode เท่านั้น แอบบ่นนิด ๆ ตัวเครื่อง ROG Phone 3 หากไม่ใส่เคส จะค่อนข้างลื่นมือทีเดียว นับว่ายังดีที่ในกล่องมีแถมเคสติดมาให้ แต่ถ้าอยากได้สวยกว่านี้ ทาง ASUS มีเคสนี้ให้ (ซื้อ) ครับ

ROG Clip

ปิดท้ายด้วย ROG Clip ขายึดตัวเครื่อง ROG Phone 3 ติดกับจอยเกมคอนโซล โดยในกล่องก็ให้ขายึดมาถึง 3 ชุด สามารถรองรับได้ทั้งจอยเกม Xbox , PS4 และ Stadia ครบมาก

ประสิทธิภาพ

ขุมพลังหลักของ ROG Phone 3 คือ Qualcomm Snapdragon 865 Plus ซีพียูปรับแต่งพิเศษ ที่สามารถ Overclock เพิ่มความแรงผ่านฟีเจอร์ “X Mode” ได้ และรองรับ 5G ด้วย อีกทั้งมีแรมขนาด 12GB กับรอมขนาด 512GB แบบ UFS 3.1 พร้อมแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ถึง 6,000 mAh ซึ่งจะได้ประสิทธิภาพขนาดไหน ลองดูกันเลย

ลองวัดประสิทธิภาพซีพียูด้วยแอปฯ GeekBench คะแนนที่ได้คือ 997 คะแนน สำหรับ Single-Core และ 3242 คะแนน สำหรับ Multi-Core ส่วนความเร็วอ่านเขียนบนรอมขนาด 512GB วัดด้วยแอปฯ AndroBench ก็ได้ไป 1702 MB/s สำหรับอ่าน และ 765 MB/s สำหรับเขียน สูงจน SSD ที่บ้านยังอาย….

ต่อไปลองเทสเกมกันบ้าง รอบนี้เทสด้วยเกม Honkai Impact 3 และ Call of Duty Mobile แบบปรับสุดเช่นเคย พร้อมเปิด X-Mode พร้อมลุย (อัดวิดีโอจากตัวเครื่องโดยตรง ฉะนั้นหากเล่นปกติ จะได้ความลื่นไหลกว่านี้แน่นอน) แอบเสียดายที่คืนเครื่องก่อนเกม Genshin Impact เปิดตัว ไม่งั้นได้จับเทสแน่นอน

Honkai Impact 3

Call of Duty Mobile

กล้อง

เชื่อว่าหลายคนหากซื้อสมาร์ทโฟนเกมมิ่งมาแล้ว อาจไม่สนใจถ่ายรูปมากนัก สำหรับ ROG Phone 3 รอบนี้ก็อัพเกรดกล้องหลังใหม่ โดยเพิ่มกล้องเป็น 3 ตัวแล้ว (จากเดิม 2 ตัว) ซึ่งประกอบไปด้วยเลนส์หลัก 48 ล้านพิกเซล ใช้เซ็นเซอร์ IMX686 จาก Sony เลนส์ Ultrawide 13 ล้านพิกเซล และเลนส์ Macro 5 ล้านพิกเซล ส่วนการทดสอบก็ของ่าย ๆ กด Auto พร้อมปรับแสงนิด ๆ พอ โดยจะเน้นฉากตอนกลางคืนเป็นหลักตามนี้

ตัวอย่างภาพถ่ายจาก ROG Phone 3

สรุป

จุดเด่นหลัก ๆ ของสมาร์ทโฟนเกมมิ่งที่ต้องมีคือ สเปกแรง แบตฯ อึด ระบบระบายความร้อนดี ฟีเจอร์เกมมิ่งมากมาย และหน้าจอต้องระดับ 90Hz ขึ้นไป ROG Phone 3 นับเป็นสมารฺ์ทโฟนเกมมิ่งที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างดุเดือดทีเดียว ขนิดที่แทบทุกอย่างของตัวเครื่อง ออกแบบโดยคำนึงถึงการเล่นเกมเป็นหลัก

เรื่องสเปกคงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก แต่จุดที่ต้องดูเป็นพิเศษคือ ‘ฟีเจอร์’ ตัว ROG Phone 3 ก็มีฟีเจอร์ที่เฉพาะตัวมากมาย ซึ่งเราคงได้เห็นประโยชน์ของมันกันไปแล้ว อาทิ X-Mode, Air Trigger, Armoury Crate, สารพัดอุปกรณ์เสริม และฟีเจอร์ที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือ Screen Recorder อัดหน้าจอขณะเล่นเกม ที่ใช้งานง่าย และคุณภาพออกมาดีมาก

ทั้งนี้แม้จะได้ชื่อว่าสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง แต่ตัว ROG Phone 3 ก็ยังแสดงให้เห็นอีกว่า มันเป็นมากกว่าเกมมิ่งโฟน นอกจากเล่นเกมเด่น การใช้งานอื่น ๆ ก็เด่นไม่แพ้กัน นับเป็นสมาร์ทโฟนระดับเรือธงชั้นดีตัวหนึ่งเลย โดยเฉพาะกล้อง ที่รอบนี้แสดงประสิทธิภาพได้ดีเกิดคาด

ส่วนข้อสังเกต ตัว ROG Phone 3 ก็ใช่ว่าจะไม่มี อย่างแรกคือ ตัวเครื่องมีน้ำหนักค่อนข้างมาก และหากติดตั้งอุปกรณ์เสริม ก็ยิ่งมีน้ำหนักเข้าไปอีก จุดนี้หากต้องถือเล่นเกมนาน ๆ คือได้ออกกำลังแน่ ๆ อย่างที่สอง ตัวเครื่องแอบลื่นมือนิด ๆ ควรใส่เคสเพื่อกันหลุดมือ สุดท้ายคือ อุปกรณ์เสริมค่อนข้างมีราคา

ราคา ROG Phone 3

– ROG Phone 3 (12GB/512GB) ราคา 32,990 บาท

– ROG Phone 3 Strix Edition (8GB/256GB) ราคา 24,990 บาท

ราคาอุปกรณ์เสริม

– TwinView Dock 3 ราคา 7,990 บาท

– ROG Phone 3 Lighting Armor case (เคส RGB) ราคา 1,990 บาท

– ROG Kunai 3 Gamepad ราคา 3,990 บาท

Shops
แชร์ :
review
  • วัสดุ / การออกแบบ
  • สเปค / ฟีเจอร์
  • ราคา / ความคุ้มค่า
Comments Rating 0 (0 reviews)

Leave a Reply

User Review
  • วัสดุ / การออกแบบ
    Sending
  • สเปค / ฟีเจอร์
    Sending
  • ราคา / ความคุ้มค่า
    Sending

Follow us
Most popular
Category
Tag

Relate Article