รีวิว : NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition สวยขั้นเทพ แรงขั้นสุด

แม้จะเปิดตัวได้พักใหญ่แล้ว แต่ครั้งนี้บอกเลยว่า “เดือด” เพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับ RTX 4090 ที่สุดของการ์ดจอเล่นเกมแห่งปีแล้ว ยังได้ลองชุดเกมมิ่ง Desktop PC ที่จัดมาเพื่อการ์ดจอตัวนี้ด้วย   

รีวิวนี้พบกับ NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition การ์ดจอระดับ Top สุด ส่งตรงจาก NVIDIA ด้วยตัวระบายความร้อนแบบเฉพาะ พร้อมด้วยประสิทธิภาพการเล่นเกมที่เรียกได้เลยว่า “แรงที่สุดในโลก” 

ขับเคลื่อนโดยสถาปัตยกรรม NVIDIA Ada Lovelace ช่วยดันประสิทธฺภาพขึ้น 2 เท่า พร้อมกับหน่วยความจำ GDDR6X ขนาด 24 GB และเทคโนโลยี AI ซึ่งมีความก้าวกระโดดจากรุ่นก่อน ๆ อย่างมาก ชนิดที่เห็นผลจริง ๆ ช่วยให้การเล่นเกมมีความไหลลื่นขึ้นด้วย DLSS 3.0 กับ Ray Tracing โฉมใหม่ ที่ช่วยให้ภาพเกมเพลย์สวยขึ้นอย่างน่าตกใจ ด้วยการประมวลผลแสงเงาที่สมจริง 

ในรีวิวนี้ จะขอเน้นตัว DLSS โดยเฉพาะ DLSS 3.0 ตัวล่าสุดเป็นหลัก ลองดูว่าจะช่วยขับเกมที่ความละเอียด 4K แบบ Max Setting ทุกเกม (ที่นำมาเทส) ได้ลื่นขนาดไหน พร้อมกับช่วยดัน Ray Tracing ฟีเจอร์เฉพาะของ RTX Series ได้ดีแค่ไหนด้วย

รายละเอียดสเปก NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nvidia.com/en-us/geforce/graphics-cards/40-series/rtx-4090/)

  • NVIDIA CUDA Cores : 16384 Cores
  • Boost Clock : 2.52 GHz
  • Base Clock : 2.23 GHz
  • Standard Memory Config : 24 GB GDDR6X
  • Memory Interface Width : 384-bit
    Ray Tracing Cores : 3rd Generation
  • Tensor Cores : 4th Generation
  • NVIDIA Architecture : Ada Lovelace
  • NVIDIA DLSS : 3.0
    Maximum Resolution & Refresh Rate : 4K at 240Hz or 8K at 60Hz with DSC, HDR
  • Standard Display Connectors : HDMI x 1 , DisplayPort x 3
  • Multi Monitor :
  • HDCP : 2.3
    Length : 304 mm
  • Width : 137 mm
  • Slots : 3-Slot (61mm)
    Maximum GPU Temperature : 90c
  • Average Gaming Power : 315
  • Total Graphics Power : 450W
  • Required System Power : 850W

งานออกแบบ

หากใครเป็นแฟน ๆ ของ NVIDIA ก็คงคุ้นดีไซน์ของ RTX 4090 รุ่น Founder Edition นี้แน่นอน ซึ่งยังคงคล้ายกับตัว Founder Edition รุ่นก่อนอย่าง RTX 3090 มาก ๆ แต่มีความยาวที่สั้นลงเล็กน้อยที่ 304 มม. (RTX 3090 อยู่ที่ 313 มม.) นอกนั้นก็มีขนาดและน้ำหนักพอ ๆ กัน 

สำหรับใครที่เพิ่งมาเห็น ก็คงคิดเหมือนกันว่า “ใหญ่ไปไหม” (บอกเลยว่าการ์ดจอ RTX 4090 จากค่ายอื่น คงมีขนาดไม่ต่างกัน) ตัวการ์ดจอใช้ Slot มากถึง 3 ช่อง และมีความยาวกว่า 300 มม. ต้องหา Case PC ระดับ Mid Tower รุ่นใหญ่พิเศษ หรือชัวร์สุดคือจัด Full Tower ไปเลย อย่างไรก็ตามตัวการ์ดจอ เอาจริง ๆ หากไม่รวมตัวชุดระบายความร้อนแล้ว จะมีขนาดเพียงเท่านี้

ภาพจาก https://www.techpowerup.com

จากภาพก็สังเกตได้เลยว่า ตัวการ์ดจอ RTX 4090 รุ่น Founder Edition นี้ มาพร้อมกับตัวจ่ายไฟ (LR22) มากถึง 20 ตัว แสดงให้เห็นเลยว่าตัวการ์ดจอใช้พลังงานมากขนาดไหน ซึ่งหากอิงจากข้อมูลสเปกของทาง NVIDIA ที่มีระบุไว้

เผยตัวการ์ดจอใช้พลังงานโดยรวมที่ 450W และมีข้อแนะนำว่าควรใช้ Power Supply หรือ PSU ขั้นต่ำ 850W ขึ้นไป เอาจริง ๆ ควรใช้เป็น 1000W ขึ้นไปเลยจะดีกว่า เพราะเชื่อได้เลยว่า คนที่จะใช้การ์ดจอระดับ RTX 4090 นี้ ตัวเครื่อง Desktop PC ที่มีต้องไม่ธรรมดาแน่ อาจมีทั้ง CPU ระดับ Intel Core i7 หรือ i9 ขึ้นไปเลย (โดยเฉพาะรุ่น 12/13 Gen) พร้อมกับมี SSD มากกว่าหนึ่ง หรือมีทั้งชุดพัดลม ชุด RGB และอื่น ๆ อีกมาก 850W อาจไม่พอแน่นอน 

ตัวพัดลมระบายความร้อน หากดูจากด้านนี้คงคิดว่ามีเพียงตัวเดียว แต่จริง ๆ แล้วมี 2 พัดลม อยู่สลับต่ำแหน่งกันทั้งด้านบนและล่าง ซึ่งสังเกตได้เลยว่า มีขนาดใหญ่กว่าตัว RTX 3090 ที่เป็นรุ่น Founder Edition ซะอีก จบเกือบล้นขอบ ส่วนเทคโนโลยีการระบายความร้อน ก็ใช้พัดลมทั้งสองตัว ดูดลมเข้า แล้วเป่าออกด้านหลัง ซึ่งจะช่วยระบายความร้อนได้ขนาดไหนนั้น เดี๋ยวมาดูกัน

หน้าตาตัว RTX 3090 Founder Edition

ช่องระบาย ‘ลมร้อน’ ออก ก็กิน Slot ติดตั้งไปแล้ว 3 ช่อง (จากปกติมักเป็น 2 ช่อง) จากจุดนี้ก็จะเห็นพอร์ตเชื่อมต่อการ์ดจอด้วย โดยมีด้วยกันทั้งหมด 4 ช่อง แบ่งเป็น HDMI x 1 และ DisplayPort x 3 รองรับการเชื่อมต่อจอ Monitor ได้ทั้งหมด 4 หน้าจอ และการแสดงผล 4K at 240Hz หรือ 8K at 60Hz สูงสุด

เนื่องด้วยตัวการ์ดจอมีขนาดใหญ่พอตัว บริเวณปลายตัวการ์ดจอก็มีช่องสำหรับติดตั้ง ‘ที่ค้ำการ์ดจอ’ ให้ด้วย ซึ่งใน Case PC บางตัว จะมีแถมมาให้ แต่ถ้าไม่มี ก็เตรียมหามาได้เลย เพราะต้องใช้แน่นอน

มาถึงส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนสำหรับการ์ดจอ RTX 4090 หรือ RTX 40 Series ในหลาย ๆ รุ่นถัดจากนี้ จะมาพร้อมตัวเชื่อมต่อไฟเลี้ยงแบบ 12VHPWR (12+4 Pin) ไม่ใช่ 16 Pin เหมือนก่อนแล้ว ข้อดีคือ ไม่ต้องใช้สายต่อไฟเลี้ยงจาก PSU สองเส้นอีกเกะกะต่อไป และใน PSU รุ่นหลัง ๆ ก็จะมีสายสำหรับต่อช่อง 12VHPWR ให้โดยเฉพาะเลย แต่ถ้าไม่มี ตัวการ์ดจอก็มีหัวแปลงสำหรับ 16 Pin เป็น 12VHPWR ให้ด้วย

ตัวอย่างการเชื่อมต่อสาย 12VHPWR กับตัวการ์ดจอ RTX 4090 ผ่านตัว PSU เจนใหม่ล่าสุด ดูสะอาดตาขึ้นเยอะ 

สถาปัตยกรรมใหม่ ‘Ada Lovelace’ แรงขึ้น 2 เท่า

จุดเด่นหรือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการ์ดจอ NVIDIA คือการเพิ่มฟีเจอร์ด้าน AI เข้ามาอย่าง Ray Tracing กับ DLSS ผ่านตัวชิป Tensor Core ที่ช่วยประมวลผลภาพกราฟฟิกขณะเล่นเกม ให้ทั้งสวยขึ้นและลื่นไหลขึ้นด้วย มาถึงตัว RTX 4090 รุ่นล่าสุด รอบนี้ก็เปลี่ยนมาใช้สถาปัตยกรรมใหม่อย่าง NVIDIA Ada Lovelace ซึ่งชูเลยว่า 

  • AI ประสิทธิภาพเร็วขึ้นสูงสุดถึง 2 เท่า ด้วยชิป Tensor Core Generation 4th 
  • ประสิทธิภาพของ ray tracing ดีขึ้นสูงสุดถึง 2 เท่า ด้วยชิป RT Core Generation 3rd
  • ประสิทธิภาพและสมรรถนะด้านพลังงานสูงสุด 2 เท่า ด้วยชิป Multiprocessor System รุ่นใหม่ 

ทุกอย่างอัปเกรดประสิทธิภาพขึ้น 2 เท่า แต่ในรีวิวนี้ก็ขอเน้นที่ตัว AI อย่าง DLSS 3.0 ตัวใหม่เป็นหลัก ที่ช่วยเพิ่มความลื่นไหลของเกมหรือเฟรมเรต (FPS) ได้โดยไม่เสียความละเอียด ว่ากันว่าเห็นผลดีขึ้นทันตาแบบสองเท่าจริง ๆ แต่ก่อนอื่น ลองมาทำความรู้จักกันหน่อยว่า DLSS คืออะไร และเวอร์ชั่น 3 นี้ ดีขึ้นกว่าก่อนแค่ไหน

DLSS 3.0 

หากให้พูดแบบบ้าน ๆ เข้าใจง่ายที่สุด DLSS ก็คือการใช้ AI มาช่วย ‘สร้าง’ เฟรมเรต (FPS) เพิ่มเติมนี้เอง ขยายความหมายหน่อย ก็คือการปล่อยให้ AI มาคำนวนค่าความละเอียดใหม่ โดยนำเฟรมปัจจุบันที่มีความละเอียดต่ำ และเฟรมก่อนหน้าที่มีความละเอียดสูง มาคาดการณ์แบบพิกเซลต่อพิกเซล แล้ววิเคราะห์ใหม่แบบเรียลไทม์ จนสามารถสร้างเฟรมเรต (FPS) ที่มากขึ้น ช่วยให้ได้ภาพที่ไหลลื่นขึ้น แต่ก็ยังไม่เสียความละเอียดในการแสดงผล หรืออาจมีนิด ๆ แต่ปกติตาของมนุษย์แทบมองไม่ออกนั้นเอง 

 

ทว่าก็มีข้อแลกเปลี่ยนคือ ‘ไม่ใช่ทุกเกมที่รองรับ’ แต่หากมีเกมที่รองรับแล้ว ในเกมนั้นจะมีหน้าตั้งค่า (Setting) เปิดการใช้งาน DLSS ให้โดยเฉพาะ ช่วยให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมที่กินสเปกสูง แต่ใช้การ์ดจอระดับกลางเล่นเกมนั้นได้ไหลลื่นราวกับใช้การ์ดจอตัว Top ทว่าจะเป็นอย่างไร หากเราใช้การ์ดจอระดับ Top อยู่แล้วอย่าง RTX 4090 มาเปิดใช้งาน DLSS อีกที และเป็น DLSS 3.0 ตัวใหม่ ใช่ครับ เฟรมเรต (FPS) ก็จะคูณ 2 เท่า ตัวอย่างเช่นเกม Microsoft Flight Simulator ที่เดิมมีเฟรมเรต (FPS) เพียง 66 fps แต่หากเปิดใช้ DLSS 3.0 ก็พุ่งเป็น 137 fps ได้เลยนั้นเอง เดี๋ยว​มาพิสูจน์กัน

ประสิทธิภาพ

สำหรับสเปกของตัวเครื่อง Desktop PC ที่ใช้ในการรีวิว NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition ก็มีตามนี้

VGA : NVIDIA GEFORCE RTX 4090 สถาปัตยกรรม NVIDIA Ada Lovelace ที่เร่งประสิทธิภาพด้วย AI พร้อม Tensor Core เจนเนอเรชั่นที่ 4 และ RT Core เจนเนอเรชั่นที่3 เพื่อประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าถึง 3 เท่า

  • CPU : Core 17 – 13700K LGA 1700
  • M/B : ROG STRIX Z790-E GAMING WIFI
  • CASE : Core P3 PRO Mid Tower Chassis
  • PSU : TOUGHPOWER GF3 1650W 80 PLUS GOLD
  • RAM : TOUGHRAM XG RGB DDR5 5600MHZ 64GB (16GBX4)
  • LCS : PACIFIC CLM 360 Ultra Liquid Cooling Kit
  • FAN : TOUGHFAN RGB 14
  • ACC : PCle 4.0 Extended 300mm , PACIFIC DP100-D5 Plus Distro-Plate with Pump Combo
  • GAMING MONITOR : MSI OPTIX MPG321QRF-QD

ทั้งนี้ตัวสเปก หลัก ๆ ก็เป็นเช็ตเกมมิ่งเกียร์และ DIY จากทาง THERMALTAKE โดยที่เด่น ๆ ก็ประกอบไปด้วย 

  • Core P3 PRO Mid Tower Chassis เคสใหม่อัพเกรดจาก Core p3 เป็น Core p3 pro เพื่อปรับแต่งให้ดียิ่งขึ้น
  • TOUGHPOWER GF3 1650W 80 PLUS GOLD ตัว POWER SUPPLY หรือ PSU จาก THERMALTAKE GF3 รุ่นใหม่ล่าสุด เทคโนโลยีใหม่ ATX3.0 & PCIE GEN 5.0 รองรับการ์ดจอรุ่นใหม่จาก NVIDIA นับว่าเป็นผู้ช่วยพระเอกอย่าง RTX 4090 ในครั้งนี้เลย
  • TOUGHRAM XG RGB DDR5 5600MHZ 64GB (16GBX4) แรม DDR5 ขนาด 64GB จาก THERMALTAKE เม็ดแรมคัดเกรดทุกเม็ด คุณภาพสูง มาพร้อมรูปทรง X และไฟ RGB
  • PACIFIC CLM 360 Ultra Liquid Cooling Kit ชุดน้ำแบบระบบเปิดจาก THERMALTAKE มาพร้อมกับบล๊อกซีพียู MX2 ULTRA สามารถปรับแต่งจอได้ตามต้องการ
  • TOUGHFAN RGB 14 FAN พัดลมขนาด 140 มม. จาก THERMALTAKE  ประสิทธิภาพสูง เน้นการระบายความร้อน มาพร้อมไฟ RGB (วางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้)
  • PCle 4.0 Extended 300mm สายต่อการ์ดจอแนวตั้งคุณภาพสูง PCle 4.0 จาก THERMALTAKE
  • PACIFIC DP100-D5 Plus Distro-Plate with Pump Combo แท้งก์น้ำและปั้มน้ำ  DP100-D5 Plus มีไฟ RGB สามารถใช้ eco system จาก THERMALTAKE ได้
  • และสุดท้าย MSI OPTIX MPG321QRF-QD จอ Monitor Gaming จาก MSI ที่รองรับ G-Sync Compatible ที่ช่วยทำให้ภาพลื่น เฟรมเรทสูง ในการใช้งานร่วมกับ GEFORCE GPU IPS Panel ให้ความเร็วภาพที่ไวกว่าพาแนล IPS ทั่วไปถึง 4 เท่า การตอบสนองไว 1 มิลลิวินาที (1 milli second) และ รีเฟรชเรทสูงถึง 175Hz

รายละเอียดสเปกตัวเครื่องโดยรวม ที่ใช้งานร่วมกับ RTX 4090 

นับว่าเป็นบุณตาจริง ๆ ที่ได้มาเห็น GPU-Z ของตัว RTX 4090 ด้วยตาตัวเอง โดยเฉพาะตัวที่เป็น Founder Edition อีกด้วย ในโปรแกรมก็เผยตัวทั้งเทคโนโลยีการผลิต ที่มีขนาด 4 นาโนเมตร !! ตัว Shaders ที่มากถึง 16384 CUDA Cores แรมขนาด 24576 MB หรือ 24GB แบบ GDDR6X พร้อม Bandwidth ที่ 1008.4 GB/s และจุดที่น่าสนใจคือตัว PCIe ที่ยังเป็น 4.0 อยู่ แม้ตอนนี้จะมีเมนบอร์ดหรือ M/B ที่รองรับ PCIe 5.0 แล้วก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องดี เพราะอาจช่วยประหยัดงบในการใช้งานตัว RTX 4090 ได้บ้าง โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยน M/B ใหม่ทั้งชุด

ต่อไปลองเทส 3D Mark ด้วย Fire Strike เริ่มตัว Ultra ก็ได้คะแนนไปถึง 24,258 คะแนน แตะ 1 หมื่นได้ก็โหดแล้ว แต่นี่ได้เกิน 2 หมื่น นอกนั้นตัว Fire Strike อื่น ๆ ก็ตามภาพเลย บอกเลยว่า งานหมู ๆ สำหรับ RTX 4090

ถัดมาก็ลองเทส Time Spy Extreme ผลคือได้ไปถึง 16,904 คะแนน

ด้านประสิทธิภาพการระบายความร้อนเป็นยังไง อย่างที่เห็นไปก่อนหน้า ตัวการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition มาพร้อมพัดลมสองตัว ที่มีขนาดใหญ่จากเดิมขึ้นด้วย และตัวการ์ดจอเองก็มี Heatsink ที่ใหญ่เป็นพิเศษ ลองทดสอบในห้องแอร์กับ Case PC แบบ Open Air อย่าง Core P3 PRO Mid Tower Chassis พร้อมวางการ์ดจอในแนวขวาง  

จากนั้นก็ทดสอบด้วย FurMark ในความละเอียด 4K ผลคือมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่ 69 องศา นับว่ากำลังดี แต่หากเปิดใช้งานไปนาน ๆ ก็อาจแตะที่ 70 องศาขึ้นได้อยู่

Gaming Test

มาถึงไฮไลท์เด็ดของรีวิวครั้งนี้แล้ว เพื่อให้เห็นภาพกันชัด ๆ ก็ขออัดคลิป ลองเล่นเกมแบบ 4K ปรับสุดทุกอย่าง​ ให้เห็นความลื่นไหลแบบสด ๆ ไปเลย และอยากที่เคยกล่าวไว้ ในรีวิวนี้จะขอเน้นที่ DLSS เป็นพิเศษ โดยคัดมาทดสอบด้วยการ 3 เกม และเป็นเกมแนว FPS ทั้งหมดอย่าง Call of Duty®: Warzone™ 2.0 , Battlefield 2042 และ Cyberpuck 2077 

บอกเลยว่า กินสเปกทุกเกม และครั้งนี้ก็ขอจัดหนักโดยการปรับภาพกราฟฟิกเป็น Max Setting พร้อมปรับความละเอียดเป็น 4K ทั้งหมด พร้อมลองทดสอบการเปิดปิด DLSS ว่าจะได้ค่าเฟรมเรตเพิ่มหรือลดเท่าไรกัน

Call of Duty®: Warzone™ 2.0

 

ประเดิมด้วย Call of Duty®: Warzone™ 2.0 เกมแนว FPS ในโหมด Battle Royale แบบ Open World ที่เพิ่งเปิดให้เห็นในช่วงสิ้นปีนี้เอง นับว่าเหมาะสำหรับเทสการ์ดจอแห่งปีอย่าง RTX 4090 ดูว่าเกม Next Gen แบบนี้ ตัวการ์ดจอระดับ Top สุดของปี​ สามารถ​ดันค่าเฟลมเรตได้ขนาดไหน ผลคือได้เฟรมเรตไปราว ๆ 170 fps รันบน 4K แบบ Max Setting หรือ Extreme ได้สบาย ๆ 

ลองปิด DLSS [Off] ผลคือได้ 159 fps

ลองเปิด DLSS [On] ผลคือได้ 189 fps 

Battlefield 2042

ถัดมาคือเกม Battlefield 2042 แม้ที่ผ่านมาจะมีชื่อไม่ได้ดีนัก แต่ล่าสุดมีการอัปเดตใหม่ จนเกมเริ่มมีความเสถียรขึ้นกว่าเดิมมากแล้ว และกลับมาเป็นเกม FPS ยิงกันแบบวินาศสันตะโร ที่พร้อมจะกระชากเฟรมเรตให้วินาศตามไปด้วย แต่สำหรับ RTX 4090 บอกชิว ๆ ดันค่าเฟรตเรตเฉลี่ยนได้ 120 – 140 fps แทบจะตลอดทั้งเกม

ลองปิด DLSS [Off] ผลคือได้ 109 fps

ลองเปิด DLSS [On] ผลคือได้ 139 fps

Cyberpuck 2077

ปิดท้ายด้วยเกม Cyberpuck 2077 สำหรับเกมนี้จะพิเศษหน่อย คือรองรับ DLSS ได้หลากหลายแบบ และรองรับ DLSS 3.0 ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา แค่ DLSS ธรรมดา ก็ช่วยดันค่า fps ได้สูงขึ้นประมาณ 30 fps แล้ว แล้วหากเป็น DLSS แบบ Ultra Performance พร้อมกับปรับภาพ 4K และ Ultra Setting กับเกมที่กินสเปกแห่งปีนี้จะเป็นอย่างไร​ หากเปิด​ DLSS แบบ​ Auto ก็ได้เฟรมเรตประมาณ​ 132 fps หากเปิด​ DLSS แบบ​ Ultra Performance ผลคือได้เฟรตเรตมากถึง… 

ลองปิด DLSS [Off] ผลคือได้แค่ 57 fps แต่แสงเงาจาก Ray Tracing มาเต็มมาก

ลองเปิด DLSS Auto [On] ผลคือได้ 132 fps

ลองเปิด DLSS 3.0 หรือ Ultra Performance [On] ผลคือได้ 172 fps !! บ้าไปแล้วววว

แถมท้าย ลองดูภาพกราฟฟิกงาม ๆ จากเกม Battlefield 2042 พร้อมดูการแสดงผล​แสงเงาสวย​ ๆ​ จาก​ Ray Tracing ​แบบเต็มตากันยาว​ ๆ ในภาพกราฟฟิกแบบปรับสุดทุกอย่าง  

สรุป

Shops
แชร์ :
review
  • วัสดุ / การออกแบบ
    (5)
  • สเปค / ฟีเจอร์
    (5)
  • ราคา / ความคุ้มค่า
    (3.5)
4.5

Summary

ในระหว่างนี้รีวิวนี้ คงมีการ์ดจอฝั่งคู่แข่งเปิดตัวออกมาแล้ว แต่อย่างไร RTX 4090 ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นที่สุดแห่งปีนี้ และครองตำแหน่งการ์ดจอที่แรงที่สุดในโลกอยู่ ในรีวิวนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การได้เล่นเกมในภาพสวยขั้นเทพ และลื่นไหลขั้นสุด มันเป็นยังไง

4K Max Setting ในเฟรมเรตระดับ 120 fps ขึ้นไป สำหรับ NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition หรือตัว RTX 4090 หากมันพูดได้ คงอยากบอกเราว่า “แค่นี้ยังคัน ๆ จัด​ 8K​ มาเลยดีกว่า”​ (ถ้ามีจอ​ 8K​ ลุยไปแล้วว)​ คือปรับภาพกราฟฟิกเกมระดับนี้แล้ว แต่ยังได้เฟรมเรตเร็วแรงทะลุร้อยแบบไม่มีปัญหา และตัวการ์ดจอเองก็ยังไม่มีปัญหาเรื่องความร้อน แม้จะเล่นเกมต่อเนื่องเป็นเวลานานก็ตาม (ส่วนเรื่องสาย 12+4 Pin ก็ใช้สายต่อตรงจากตัว PSU เอง โดยไม่ผ่านหัวแปลง จึงไม่มีปัญหาอะไรเช่นกัน)

ฟีเจอร์ที่เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของรีวิวนี้ ก็ต้องยกให้เป็น DLSS 3.0 เลย แค่ DLSS เวอร์ชั่นแรก ก็ช่วยให้เกมเมอร์เล่นเกมได้ลื่นขึ้นมากพอแล้ว พอเป็นเวอร์ชั่นใหม่นี้ ลองเล่นกับเกมที่รองรับอย่าง Cyberpuck 2077 ที่เห็นผลชัดเจนมาก คือเฟรมเรตจากเดิมที่อยู่เพียง 137 fps ก็พุ่งขึ้นเป็น 172 fps ทันที นับว่าเซอร์ไพรส์มาก ๆ เพราะปกติหากจะได้เฟรมเรตระดับนี้ คงต้องลดความละเอียดกับปรับการตั้งค่าลง แต่นี่ยังคงเป็น 4K กับ Ultra Setting เหมือนเดิม 

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของ NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition หรือกระทั่งตัว RTX 4090 รุ่นอื่น ๆ แม้จะให้ประสิทธิภาพที่ดีจนล้ำยุค แต่เงื่อนไขการครอบครองและใช้งานก็หินอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน อย่างแรกคือต้องมีเครื่อง Desktop PC ที่ดีพอ เช่น PSU ก็ควรมีกำลังไฟระดับ 1000W ขึ้นไปเลย ซีพียูก็ควรเป็นรุ่น Hi-End และเป็น Gen ล่าสุดหรือใกล้เคียง ตัว Case PC ก็ต้องมีขนาดใหญ่พอด้วย และอย่างสุดท้าย แน่นอนว่าเป็นค่าตัว สำหรับ NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition อิงจากเว็บไซต์ของทาง NVIDIA ก็มีราคาอยู่ที่ 68,500 บาท นับว่าสูงใช่เล่น แต่ถ้าใครต้องการเล่นเกมที่เข้าถึงแบบขั้นสุดจริง ๆ ก็ขอแนะนำจากใจเลย 

ท้ายนี้ขอขอบคุณทาง NVIDIA Thaialnd ที่ส่งตัว NVIDIA GeForce RTX 4090 Founder Edition มาให้ลองใช้งาน และทาง THERMALTAKE ที่สนับสนุนทั้ง Desktop PC และชุดเกมมิ่งเกียร์เพื่อการรีวิวแบบเต็มสูบในครั้งนี้เลยครับ

Comments Rating 0 (0 reviews)

Leave a Reply

User Review
  • วัสดุ / การออกแบบ
    Sending
  • สเปค / ฟีเจอร์
    Sending
  • ราคา / ความคุ้มค่า
    Sending

Follow us
Most popular
Category
Tag

Relate Article