รีวิว : ASUS NUC 13 Pro และ ASUS NUC 11 Essential คอมจิ๋ว ขนาด Mini ตัวแรง สเปคคุ้ม เกินขนาด

[Review] แม้ตอนนี้ Intel จะยกสิทธิ์การพัฒนา Next Unit of Computing หรือ NUC ให้ทาง ASUS สานต่อแล้ว แต่ตัว Intel NUC รุ่นดั้งเดิมยังมีจำหน่ายต่อไป (ผ่านทาง ASUS) และสำหรับใครที่ยังชื่นชอบดีไซน์ Mini PC จากทาง Intel แท้ ๆ วันนี้ลองมาดูรีวิวเครื่อง NUC สองรุ่นใหม่อย่าง ASUS NUC 13 Pro และ ASUS NUC 11 Essential สำหรับใครที่อยากได้เครื่อง PC ขนาดเล็กไม่กินพื้นที่ แต่ประสิทธิภาพเกินขนาดและคุ้มราคา

รายละเอียดสเปก ASUS NUC 11 Essential

  • มาพร้อมหน่วยประมวลผล Intel® Celeron® N4505 2Cores / 2Threads 2.0GHz Up to 2.9GHz , 4MB Intel Smart Cache TDP 10W พร้อม Intel UHD Graphic
  • หน่วยความจำ DDR4 4GB ที่สามารถอัพเกรดได้ถึง 32GB แบบ Dual Channels
  • อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ eMMC on-board ขนาด 64GB, สามารถติดตั้ง M.2 PCIE 3.0 ขนาด 2280 เพิ่มได้ 1 ตัว และ HDD 2.5” ได้อีก 1 ลูก
    Wifi AC / Bluetooth 5.1
  • ประหยัดพลังงาน ใช้เพียง 10W ในขณะ Full load

รายละเอียดสเปก ASUS NUC 13 PRO

  • มาพร้อมหน่วยประมวลผล Intel® Core™ i5-1340P Processor 12 Cores / 4 P-Core / 8 E-Core / 16 Threads / 3.4GHz Up to 4.6GHz , 12MB Intel Smart Cache TDP 28W พร้อม Intel® Iris® Xe Graphics
  • รองรับ Intel vPro® Enterprise
  • รองรับการติดตั้งหน่วยความจำ DDR4 สูงสุด 64GB แบบ Dual Channels
  • รองรับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ M.2 PCIE 4.0 (Nvme only) ขนาด 2280 ได้ 1 ตัว
  • ต่อจอภาพที่รองรับได้สูงสุด 4 จอ
  • Wifi 6E / Bluetooth 5.3 / LAN 2.5G
  • รองรับ Thunderbolt 4 Type-C 2 Ports
  • ประหยัดพลังงาน ใช้เพียง 20W ในขณะ idle และสูงสุดที่ 64W ในขณะ Full load

แกะกล่อง ASUS NUC 13 Pro

ประเดิมด้วยรุ่น Top อย่าง ASUS NUC 13 Pro ซึ่งตัวกล่องก็มาเป็นสีน้ำเงินตามสไตล์ Intel ภายในก็มีทั้งตัวเครื่อง ชุดไฟเลี้ยง ตัวช่วยติดตั้งหลังจอ Monitor หรือ VESA Mount และชุดคู่มือพร้อมสติ๊กเกอร์ซีพียู Intel Core i5 สำหรับตัว ASUS NUC 11 Essential ก็มาเป็นกล่องลังสีน้ำตาล ซึ่งมีอุปกรณ์ภายในคล้ายกัน ยกเว้นตัว VESA Mount ที่ไม่มีแถมมาให้

งานออกแบบ

จุดเด่นตลอดกาลของ Intel Nuc ก็คืองานออกแบบ Mini PC ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก มาเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสีดำขนาดย่อม โดยทั้ง NUC 13 PRO และ NUC 11 Essential ก็มีขนาดเล็กสมชื่อ Mini PC จริง ๆ แต่แม้มีขนาดเล็ก พอร์ตเชื่อมต่อ รวมถึงการอัปเกรด RAM และ SSD ก็ยังทำได้ง่ายดาย

ASUS NUC 13 Pro

ลองมาดูดีไซน์เต็ม ๆ ของ ASUS NUC 13 Pro ที่เป็นรุ่น Top ก่อน ตามสเปกคือมาพร้อมซีพียู Intel® Core™ i5-1340P ซึ่งถือเป็นซีพียูที่มีทั้งความแรงและการประหยัดพลังงาน จุดนี้เลยทำให้สามารถยัดตัวเครื่องมีขนาดเล็กและไร้พัดลมระบายความร้อนได้ ใช่ครับ ตัวเครื่องไม่มีพัดลม เลยทำให้ดีไซน์ออกมาได้กะทัดรัดมาก เป็น ‘คอมฯ จิ๋ว’ อย่างแท้จริง และไร้เสียงรบกวนด้วยเช่นกัน

เห็นเล็ก ๆ แบบนี้ แต่พอร์ตเชื่อมต่อมาเต็มยิ่งกว่าโน้ตบุ๊กหรือคอมฯ ตั้งโต๊ะบางรุ่นซะอีก เริ่มจากพอร์ต Thunderbolt 4 Type-C ด้านหลัง ที่ให้มาถึง 2 ช่อง HDMI ก็มีอีก 2 ช่อง พอร์ต LAN 2.5G และสุดท้ายพอร์ต USB-A ถึง 4 ช่อง โดยมี USB 3.0 x 3 และ 2.0 x 1 ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายก็มี Wi-Fi 6E และ Bluetooth 5.3 ทั้งพอร์ตทั้งการเชื่อมต่อ บอกเลยว่าคอมที่ใช้ประจำยังไม่เยอะเท่านี้

ASUS NUC 11 Essential

ลองมาดูรุ่นเล็กอย่าง ASUS NUC 11 Essential รุ่น Pro ว่าเล็กแล้ว รุ่นนี้ก็ยังเล็กลงได้อีก แต่แน่นอนว่าแลกกับสเปกที่ลดลง รวมถึงราคาด้วย ฉะนั้นตัวเครื่องจึงเรียกได้ว่าเป็น Mini PC สารพัดประโยชน์ ด้วยขนาดและการกินไฟต่ำ ระดับที่ใช้ Full Load ก็ใช้ไฟเพียง 10W เท่านั้น จึงเหมาะใช้เป็นคอมฯ ออฟฟิศขนาดย่อม คอมฯ ใช้ค้นข้อมูลประจำโรงเรียน คอมฯ ติดจอภาพเพื่อโฆษณา หรือใช้เป็นเครื่องให้บริการอัตโนมัติ (Kiosk) ก็ได้

และเช่นเคย ตัวเครื่องแม้จะเล็กมาก แต่พอร์ตก็ยังจัดเต็มไม่แพ้รุ่น Nuc 13 Pro เลย โดยมีทั้งพอร์ต USB-A ให้ถึง 6 ช่อง พอร์ต HDMI กับ DisplayPort ให้อย่างละ 1 ช่อง พอร์ต 9 Pin ด้านหน้า เผื่อไว้ทำปุ่มเปิด/ปิดเครื่องเพิ่มเติมนั้นเอง (นอกจากปุ่มเดิมด้านหน้า) ใครเอาไปทำตู้ Kiosk คงได้ใช้แน่ ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายก็มี Wifi AC และ Bluetooth 5.1

การอัปเกรด

แม้จะได้ชื่อว่า Mini PC แต่สำหรับ ASUS NUC แล้ว การอัปเกรดถือเป็นหัวใจสำคัญ ส่วนหนึ่งก็เพราะตัวเครื่องหากซื้อใหม่ ๆ เราจำเป็นต้องไปหา RAM กับ SSD เอง บางรุ่นหรือบางร้านอาจมีใส่มาให้แล้ว แต่สุดท้ายเราอาจต้องการอัปเกรดเพิ่มเติม สำหรับ ASUS NUC 13 Pro และ ASUS NUC 11 Essential ก็มีส่วนให้อัปเกรดได้ตามนี้

ASUS NUC 13 Pro

เริ่มจาก ASUS NUC 13 Pro ก็สามารถถอดฝาตัวเครื่องออกได้ง่าย ๆ เพียงขันน็อตใต้เครื่องทั้ง 4 จุด ก็ดึงออกได้แล้ว ภายในก็มีช่องสำหรับติดตั้ง RAM แบบ DDR4 ได้ 2 ช่องเป็น Dual Channels ซึ่งใส่ได้สูงสุดถึง 64GB กับมีช่อง SSD แบบ M.2 PCIE 4.0 ขนาด 2280 ได้ 1 ช่อง และ M.2 ขนาด 2242 ได้อีก 1 ช่อง

ASUS NUC 11 Essential

การอัปเกรด ASUS NUC 11 Essential ก็ทำได้เหมือน ๆ กัน ขั้นน็อตออก 4 ตัวเท่านั้น ส่วนภายในก็มี RAM แบบ DDR4 ติดตั้งมาให้แล้ว 4GB สามารถอัพเกรดได้ถึง 32GB แบบ Dual Channels
ด้านการจัดเก็บข้อมูลก็มี eMMC on-board ขนาด 64GB ติดตั้งมาให้ก่อนเช่นกัน เรียกได้ว่าพร้อมใช้งานโดยแท้ แต่หากอยากติดตั้ง SSD มากกว่า ก็มีช่อง M.2 PCIE 3.0 ขนาด 2280 เพิ่มได้ 1 ตัว หรือจะติดตั้ง HDD ขนาด 2.5” ก็ได้อีก 1 ลูก

ประสิทธิภาพ [ASUS NUC 13 Pro]

รีวิวนี้ทาง ASUS ได้ส่งจอพกพาอย่าง ProArt Display PA169CDV มาให้ใช้คู่กับตัว ASUS Nuc ทั้ง 2 รุ่นด้วย (ดูรีวิวได้ที่นี่) ขอประเดิมด้วย ASUS NUC 13 Pro ก่อน สำหรับตัว Pro นี้ก็มาพร้อม

ซีพียู Intel® Core™ i5-1340P Processor 12 Cores / 4 P-Core / 8 E-Core / 16 Threads / 3.4GHz Up to 4.6GHz , 12MB Intel Smart Cache TDP 28W พร้อม Intel® Iris® Xe Graphic รองรับ Intel vPro® Enterprise และมี RAM มาให้ 8GB แบบ DDR4-2400 MHz กับ SSD แบบ M.2 ขนาด 500GB ซึ่งจะดันประสิทธิภาพได้ขนาดไหน ลองมาดูกัน

ลองใช้งานโปรแกรมออกงาน 3D สามัญอย่าง Blender พบสามารถใช้งานได้ดีระดับหนึ่งเลย แม้จะใช้ซีพียูและการ์ดจอแบบออนบอร์ดก็ตาม

ถัดมาลองเทส Cinebench Release 23 วัดประสิทธิภาพซีพียูเน้น ๆ ภายใต้เครื่อง Nuc 13 Pro พบได้คะแนน Muti-Core ไป 10510 pts และ Single-Core อีก 1709 pts ได้คะแนนตามประสิทธิภาพของ Intel® Core™ i5-1340P อย่างไม่ตกหล่น

อีกหนึ่งโปรแกรมอย่าง PC Mark 10 ที่วัดประสิทธิภาพโดยรวมของคอมฯ ทั้งเครื่อง ก็ยังได้คะแนนไปถึง 5150 กันเลย เรียกได้ว่าเป็น Mini PC ที่ใช้งานได้ครอบจักรวาลพอตัว

สุดท้ายลองเทสการเล่นเกมอย่าง Genshin Impact ถ้าปรับ Low กับความละเอียด Full HD คือพอเล่นได้ที่ 30 – 40 fps แต่ส่วนตัวมองว่าไม่แนะนำ ให้เล่นนาน ๆ คงไม่เหมาะเท่าไรนัก

ประสิทธิภาพ [ASUS NUC 11 Essential]

สำหรับประสิทธิภาพของ ASUS NUC 11 Essential ที่มาพร้อมซีพียู Intel® Celeron® N4505 2Cores / 2Threads 2.0GHz Up to 2.9GHz , 4MB Intel Smart Cache TDP 10W พร้อม Intel UHD Graphic กับแรม DDR4-3000 MHz ขนาด 4GB และรอม eMMC ขนาด 64GB จะทำได้ขนาดไหน ลองมาดูกัน

ลองทดสอบด้วย Cinebench Release 23 พบได้คะแนน Muti-Core ไป 810 pts และ Single-Core อีก 69 pts ประสิทธิภาพเรียกได้ว่า ‘ใช้งานทั่วไป’ เอาไว้ใช้เป็นคอมฯ ประจำห้องสมุดหรือตู้กดกับป้ายโฆษณาเท่านั้นพอ เน้นจำนวนหลาย ๆ เครื่อง

อนึ่งแม้ตัวเครื่องจะใช้งานแบบ Full Load ก็ยังมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพียง 51 องศาเท่านั้น แม้จะไม่มีพัดลมระบายความร้อนเลยก็ตาม เรียกได้ว่าหากเอาไปใช้งานอย่างต่อเนื่อง ตัวเครื่องก็ไม่ร้อนจนเกินไป อยู่ได้ยาว ๆ

ลองวัดความเร็วอ่านเขียนของ eMMC on-board ขนาด 64GB ในตัวเครื่อง ก็พบมีความเร็วอ่านที่ 291 MB/s และความเร็วเขียนที่ 116 MB/s พอใช้งานได้ แต่ให้ดีควรอัปเกรดเป็น SSD M.2 ได้เลยจะดีกว่า เพิ่มงบอีกไม่มาก็ได้แล้ว

สรุป

ASUS NUC ยังคงเป็น Mini PC คุณภาพ ทั้งการออกแบบ การอัปเกรด การใช้งาน และประสิทธิภาพ ซึ่งเห็นได้ชัดจาก ASUS NUC 13 Pro ที่ขับประสิทธิภาพได้แรงเกินตัว พอใช้ลุยงาน 3D หรืองานตัดต่อแบบ Full HD ก็ยังได้ พอร์ตการเชื่อมต่อก็มาเต็มสุด ๆ แม้ในร่างที่เล็กพอ ๆ กับนาฬิกาปลุก ส่วนตัว ASUS NUC 11 Essential แม้สเปกจะไม่ได้แรงมาก แต่ก็แลกมากับขนาดตัวเครื่องที่เล็กเป็นพิเศษ เน้นการใช้งานหลากหลาย โดยไม่เน้นการใช้จัดเต็มเหมือนรุ่น Pro และยังได้ราคาที่ถูกกว่ามากด้วย

สุดท้ายตัวเครื่อง ASUS NUC ทั้งสองก็มีราคาเริ่มต้นตามนี้

  • ASUS NUC 13 Pro ราคาเริ่มต้นที่ 17,500 บาท มาพร้อมประกัน 3 ปี
  • ASUS NUC 11 Essential ราคาเริ่มต้นที่ 6,890 บาท มาพร้อมประกัน 3 ปี
Shops
แชร์ :
review
  • วัสดุ / การออกแบบ
  • สเปค / ฟีเจอร์
  • ราคา / ความคุ้มค่า
Comments Rating 0 (0 reviews)

Leave a Reply

User Review
  • วัสดุ / การออกแบบ
    Sending
  • สเปค / ฟีเจอร์
    Sending
  • ราคา / ความคุ้มค่า
    Sending

Follow us
Most popular
Category
Tag

Relate Article